โคลด โมเน่ต์ (Claude Monet) เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1840 ที่ปารีส เมื่อเขาอายุได้ 5 ขวบ บิดาของเขาซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายส่งของชำได้ย้ายมาอยู่ที่เลออาฟร์ (เมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส) ซึ่งในวัยเด็กนั้น โมเนต์ไม่ใคร่ที่จะสนใจในการเรียนหนังสือเท่าใดนัก ตรงกันข้าม เขากลับจดจ่อและหลงใหลอยู่กับความงามของทะเลและแสงแดดของเมืองท่าแห่งนี้เท่านั้น
สำหรับโมเน่ต์แล้ว "โรงเรียนเป็นเสมือนคุก” ดังนั้น ในห้องเรียน เขามักจะชอบเขียนภาพล้อครูของตนลงในสมุดมากกว่า และเมื่อเขาเอาภาพที่เขียนขึ้นให้เพื่อน ๆ ดู เด็กเหล่านั้นต่างก็หัวเราะชอบใจไปตาม ๆ กัน จนเมื่อเขามีอายุได้ 16 ปี ภาพล้อที่เขาเขียนขึ้นก็สามารถรวมได้เป็นจำนวนมากเลยทีเดียว และเวลานั้นเอง เขาก็ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนภาพล้อบุคคลที่มีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักทั่วเลออาฟร์
และในร้านทำกรอบรูปที่แสดงการ์ตูนภาพล้อของโมเน่ต์อยู่นั้นเอง ก็มีการแสดงภาพทิวทัศน์ของบูแดง (Boudin) แขวนอยู่ด้วย ซึ่งในที่สุด ทั้งสองก็ได้รู้จักกันจากการแนะนำของเจ้าของร้าน บูแดงได้กล่าวชมความสามารถของโมเนต์และชักชวนให้เขาเริ่มทำงานศิลปะอย่างจริงจัง มิใช่พอใจกับการเป็นเพียงนักเขียนการ์ตูนภาพล้อเท่านั้น โดยบูแดงคนนี้นี่ล่ะครับ ที่เป็นผู้สอนโมเน่ต์เองว่า งานจิตรกรรมควรจะเป็นอย่างไร
ค.ศ. 1859 โมเน่ต์เดินทางมาเรียนศิลปะในปารีส โดยเข้าเรียนในอะคาเดมีสวิสส์ และได้รู้จักกับคามิลล์ ปิซาร์โร (อีกหนึ่งศิลปินในกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสต์) หนึ่งปีต่อมา โมเน่ต์ถูกเกณฑ์ทหารและเข้าประจำการที่อัลจีเรียเป็นเวลา 2 ปี แต่เมื่อเขาล้มป่วยอย่างหนัก เขาจึงได้ลา 6 เดือน ซึ่งบิดาของเขาก็ต้องยอมเสียเงินจ้างให้ผู้อื่นมาเป็นทหารแทน และเมื่โมเน่ต์กลับมาอยู่เลออาฟร์ เขาก็เริ่มลงมือเขียนภาพต่อไปกับบูแดง และ ยองคินด์ (Jongkind) จิตรกรชาวดัชต์ที่เขาเพิ่งได้มีโอกาสรู้จักในนอร์มังดี แต่ก็มีความสนิทสนมมาก
เมื่อโมเน่ต์เดินทางมาปารีสใน ค.ศ.1862 เขาก็ได้ศึกษาศิลปะในสตูดิโอของกาเบรียล แกลร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาได้รู้จักกับบาซีย์ (Jean Frédéric Bazille) ซิสลีย์ (Alfred Sisley) และเรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) โดยทั้งหมดมักจะชักชวนกันออกไปเขียนภาพกลางแจ้งในป่าฟองแตนโบล
ปี 1865-66 เขาได้พบกับ คามีย์ ดองซิเยอซ์ นางแบบผู้ที่โมเน่ต์รู้สึกต้องชะตาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในที่สุดแล้ว ทั้งสองคนก็ตกลงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยในปีต่อมา คามีย์ก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนแรกชื่อ ฌอง (Jean) ซึ่งภาพเขียนจำนวนมากของโมเน่ต์ในระยะนี้ มักจะเป็นภาพทิวทัศน์ในชนบทหรือแหล่งพักผ่อนชานเมืองปารีสและมักจะมีคามีย์เป็นแบบ หรือบางครั้งก็เป็นคามีย์กับบุตรชาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อบิดาของโมเน่ต์รู้ว่าเขามีภรรยาและออกจากสถาบันศิลปะที่เรียนอยู่แล้ว จึงได้ตัดค่าใช้จ่ายที่เคยส่งมาให้โมเน่ต์ ทำให้เขาเริ่มมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ดังนั้น โมเน่ต์และคามีย์จึงต้องแยกกันอยู่ชั่วคราว โดยโมเน่ต์ย้ายไปอาศัยอยู่กับป้าที่แซงต์ตาแดรส์ แต่เขาก็ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะความคิดถึงภรรยาและลูกชาย จนท้ายที่สุดแล้ว ป้าของเขาก็รู้สึกสงสารจึงช่วยออกค่าเดินทางให้โมเน่ต์ได้กลับมาพบกับคามีย์และลูกอีกครั้ง
แม้จะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง แต่โมเน่ต์ก็มักจะประสบปัญหาการขาดแคลนเงินอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขามีคามีย์และบุตรเล็กๆ มาร่วมชะตากรรมด้วย บางครั้งโมเน่ต์ยังไม่มีแม้แต่สีที่จะใช้เขียนภาพ ไม่มีแม้อาหารที่จะกิน จนเรอนัวร์ที่แม้จะยากจนเช่นกันต้องนำอาหารมาแบ่งให้ ในช่วงนี้เองจะพบจดหมายของโมเน่ต์ที่สะท้อนชีวิตที่ลำเค็ญแสนสาหัสของเขา ซึ่งช่วงชีวิตที่ลำบากเช่นนี้ทำให้เขาเคยพยายามฆ่าตัวตายด้วยแต่ก็ไม่สำเร็จ
ปี 1874 โมเน่ต์ร่วมแสดงงานในการแสดงภาพครั้งแรกของกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ซึ่งผลปรากฏว่า การแสดงภาพถูกวิจารณ์อย่างย่อยยับ และเขาก็ขายภาพไม่ได้เลย เพราะในตอนนั้นผู้คนยังคงยึดติดอยู่กับแบบแผนงานศิลปะคลาสสิคที่เน้นความสวยงาม สมบูรณ์แบบ
หลังจากนั้นในการแสดงงานครั้งที่ 2 ในปี 1876 และครั้งที่ 3 ในปี 1877 ศิลปินกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็ยังคงประสบความล้มเหลวเช่นเคย ถึงตอนนี้โมเน่ต์กับครอบครัวก็พบกับความยากแค้นมากยิ่งขึ้นจนแทบไม่มีจะกิน
ทว่า ในปี 1879 ก็ยังมีความพยายามจัดงานแสดงภาพครั้งที่สี่ของกลุ่ม Impressionism ขึ้นอีก คราวนี้ โมเน่ต์ส่งภาพไปร่วมอย่างไม่ได้ใส่ใจ แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้ามกับการแสดงภาพ 3 ครั้งที่ผ่านมา เพราะการแสดงภาพครั้งนี้พวกเขาสามารถขายภาพไปได้เป็นเงินถึง 15,400 ฟรองค์ ทำให้จิตรกรกลุ่ม Impressionism เริ่มมีความหวัง แต่ในปีนี้เอง คามีย์ ภรรยาของเขาก็ต้องสิ้นชีวิตลง เพราะร่างกายและจิตใจที่บอบช้ำหดหู่กับชีวิตอันยากจนข้นแค้นที่ผ่านมา
หลังจากนั้น โมเน่ต์ก็สามารถขายภาพให้แก่ดือรองค์-รืล (นักธุรกิจที่ชื่นชอบผลงานของศิลปินกลุ่มอิมเพรชชั่นนิสม์) ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากที่เคยประสบอยู่ตลอดมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และชื่อเสียงของโมเน่ต์ก็เริ่มโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนั้น โมเน่ต์ก็สามารถขายภาพให้แก่ดือรองค์-รืล (นักธุรกิจที่ชื่นชอบผลงานของศิลปินกลุ่มอิมเพรชชั่นนิสม์) ได้เป็นจำนวนมาก ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากที่เคยประสบอยู่ตลอดมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และชื่อเสียงของโมเน่ต์ก็เริ่มโด่งดังขึ้นเรื่อยๆ
ปี 1883 โมเน่ต์ย้ายไปอยู่ที่ชิแวร์นีย์ แล้วแต่งงานกับอาลิซ ออสเชเด้ ผู้ซึ่งอพยพลูก ๆ มาอยู่กับเขาหลังจากสามีของเธอล้มละลาย ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขามีปัญหาเกี่ยวกับต้อในดวงตาจนต้องผ่าตัด ส่วนงานของเขาในระยะสุดท้ายของชีวิตก็มีลักษณะใกล้เคียงกับการเขียนภาพแบบ Abstrack มากขึ้นไปทุกที และแม้ว่าโมเน่ต์จะเริ่มมีความมั่งคั่งแล้วก็ตาม แต่เขากลับมีบั้นปลายชีวิตที่ค่อนข้างอ้างว้าง เพราะอาลิซ ภรรยาคนใหม่ของเขาเสียใจอย่างมากที่ลูกสาวคนหนึ่งตายจากไป เธอจึงล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนเพื่อนฝูงของเขาก็มิได้เหลืออยู่เช่นกัน จนกระทั่งวันที่ 5 ธันวาคม 1926 โคลด โมเน่ต์ในวัย 86 ปีก็สิ้นชีวิตลงอย่างสงบที่ชิแวร์นีย์ครับ
โมเน่ต์ เป็นศิลปินกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ เขามักจะเขียนภาพจากสิ่งที่เห็นด้วยตา เช่น ภาพทิวทัศน์ทั่วไป และอาจมีบุคคลประกอบอยู่ในฉากนั้นๆ ส่วนการใช้สีของโมเน่ต์ เขาจะเน้นสีที่มีความสว่างซึ่งจะทำให้ภาพดูสว่างไสว มีสีสันสดใส ดูแล้วทำให้รู้สึกได้ถึงบรรยากาศของช่วงเวลากลางวันที่มีแดดจัด ทั้งนี้เพราะเขาได้วาดภาพจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศนั่นเองครับ
การใช้แสงในงานเขียนของโมเน่ต์จะมีมากถึง 70 – 80% ของภาพ เพื่อเน้นความสว่าง ส่วนเงานั้นก็เป็นเงาที่เกิดจากแสง ส่วนเส้นในงานเขียนก็จะเกิดจากฝีแปรงที่ทิ้งทีแปรงโดยไม่มีการเกลี่ยสี แต่จะใช้สีที่เป็นสีแสง เงา และสีตรงข้ามสลับกัน เพื่อให้สายตาของผู้ดูเกิดการผสมสีเอง
ฟังดูเป็นเรื่องยากใช่ไหมครับ แต่ผมขออธิบายง่ายๆ ในเชิงปฏิบัติอย่างนี้ คือ เวลามองภาพเขียนของโมเน่ต์นั้น หากมองใกล้ๆ อาจจะดูไม่ออกว่าภาพนี้คืออะไร เพราะภาพเต็มไปด้วยฝีแปรงหนักหน่วงเต็มไปหมด แต่เมื่อถอยออกมาจนได้ระยะที่เหมาะสม สายตาของเราก็จะผสมสีจากฝีแปรงในภาพจนสามารถมองเห็นบรรยากาศของภาพนั้นอย่างได้อารมณ์ ดูมีชีวิตชีวามากทีเดียว
ฟังดูเป็นเรื่องยากใช่ไหมครับ แต่ผมขออธิบายง่ายๆ ในเชิงปฏิบัติอย่างนี้ คือ เวลามองภาพเขียนของโมเน่ต์นั้น หากมองใกล้ๆ อาจจะดูไม่ออกว่าภาพนี้คืออะไร เพราะภาพเต็มไปด้วยฝีแปรงหนักหน่วงเต็มไปหมด แต่เมื่อถอยออกมาจนได้ระยะที่เหมาะสม สายตาของเราก็จะผสมสีจากฝีแปรงในภาพจนสามารถมองเห็นบรรยากาศของภาพนั้นอย่างได้อารมณ์ ดูมีชีวิตชีวามากทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น